มาสเตอร์ อมาร์จิต สวาอิน
เมื่อกว่า 25 ปีก่อน ขณะที่ผมอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย ผมเริ่มมีอาการสายตาสั้นและต้องสวมแว่นสายตา ผมรู้สึกหดหู่จึงเริ่มมองหาวิธีการที่จะช่วยแก้ปัญหาสายตาสั้นนี้ โดยได้ทดลองหลากหลายวิธี ในที่สุดผมก็สามารถฟื้นฟูสายตาได้จากการบริหารดวงตาและปรับเปลี่ยนวิถีการรับประทานอาหารเพียงเล็กน้อย
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมได้ช่วยให้ผู้คนทุกเพศทุกวัยรู้จักการฟื้นฟูดวงตา และบริหารสายตาโดยหลักวิถีธรรมชาติ ผมเริ่มช่วยเหลือผู้คนที่มีปัญหาสายตามากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเด็กๆ เพื่อให้เขาสามารถมองเห็นโลกได้ด้วยดวงตาอันสวยงามของเขา
ผมได้รับรองผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกและช่วยให้ทุกคนโยนแว่นสายตาทิ้งไป หรือฟื้นฟูสายตาให้แข็งแรงขึ้นได้ด้วยหลักการฟื้นฟูดวงตาวิถีธรรมชาติ อย่างไรก็ตามผมรู้สึกเป็นทุกข์ใจเมื่อทราบว่าผู้คนต้องเดินทางมาพบผมนั้นมาจากที่ไกลๆและเดินทางมาด้วยความยากลำบาก ดังนั้นความฝันของผมคือการได้เปิดศูนย์บริหารฟื้นฟูดวงตาและสายตาในทั่วทุกภาคของประเทศอินเดียและในต่างประเทศ
ดวงตานับเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดของร่างกายมนุษย์ ทุกวันนี้เราสามารถเปลี่ยนหรือปลูกถ่ายอวัยวะที่รับบริจาคจากผู้อื่นได้ แม้กระทั่งหัวใจก็ยังสามารถเปลี่ยนได้ แต่สำหรับดวงตานั้นไม่มีการรับบริจาคเพื่อเปลี่ยนลูกนัยน์ตา ทั้งที่ดูเหมือนว่าดวงตาสำคัญมากขนาดนี้ แต่เรากลับละเลยไม่สนใจดวงตาในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ละคนดูแลรักษาฟัน ผม ผิว เสื้อผ้า ยานพาหนะ และสิ่งอื่นๆ อีกนัยหนึ่งคือแทบจะไม่มีใครที่ดูแลรักษาดวงตาอย่างดีหรือใส่ใจดูแลดวงตาเหมือนส่วนอื่นๆของร่างกายเลย ขณะที่เราใช้โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และทีวี ดวงตาเรานั้นจะถูกใช้งานจนหนักจนเกินไปและจำเป็นต้องมีการถนอมรักษาทุกวัน นี่คือเหตุผลว่าการบริหารดวงตานั้นสำคัญยิ่งเพียงใด แม้กระทั่งผู้ที่สวมแว่นสายตาก็สามารถปรับปรุงฟื้นฟูดวงตาและการมองเห็นได้ด้วยวิธีการนี้ และผู้ที่ใช้งานดวงตาอย่างหนักสามารถรักษาสุขภาพตาให้แข็งแรงขึ้นด้วยการบริหารดวงตาทุกวัน ยิ่งกว่านั้นวิธีการฟื้นฟูดวงตาวิถีธรรมชาติยังมีผลดีในการป้องกันอาการสายตาสั้นในเด็ก ผมจึงเชื่อว่าทุกคนควรจะเรียนรู้วิธีการฟื้นฟูดวงตาและบริหารร่างกายเพื่อสุขภาพตาที่ดี
ในปี พ.ศ. 2554 เมื่ออาจารย์อุราภาหรืออาจารย์จอยได้เดินทางมาอินเดียพร้อมครอบครัวเพื่อเข้าเรียนคอร์สสมาธิ ของ Sigfa Institution เรามีโอกาสได้พบกัน คุณพ่อคุณแม่ของเธอคือ แพทย์หญิงโสมสราญและนายแพทย์ดำรงพันธ์ วัฒนะโชติ
ขณะนั้นอาจารย์จอยมีภาวะสายตาสั้นและเอียงต้องสวมแว่นสายตา ผมชวนเธอ มาบริหารสายตาที่คลินิกผม เมื่อเธอเริ่มบริหารฟื้นฟูดวงตาภายในหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น สายตาของเธอก็ฟื้นฟูขึ้นจนกระทั่งถึงจุดที่ไม่จำเป็นต้องสวมแว่นตาอีกต่อไป ผมขอขอบพระคุณคุณแม่ของอาจารย์จอยหรือแพทย์หญิงโสมสราญอย่างยิ่ง ที่มีทัศนคติทางบวกต่อหลักการฟื้นฟูแบบนี้และวิธีการทางธรรมชาติ อีกทั้งมีความเข้าใจในเรื่องการออกกำลังบริหารฟื้นฟูดวงตา ถึงแม้ว่าแพทย์หญิงโสมสราญจะเป็นจักษุแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการผ่าตัดตาสูงมาก ทว่าท่านไม่เคยมองการฟื้นฟูตามวิถีธรรมชาติในทางลบอีกทั้งได้ช่วยสนับสนุนให้อาจารย์จอยทำตามเจตนารมณ์ที่จะช่วยเหลือผู้คนที่มีปัญหาสายตาและฟื้นฟูบำบัดดวงตาด้วยหลักการวิถีธรรมชาติ
อาจารย์จอยและคุณหมอโสมสราญได้ให้เกียรติเชิญผมมาเมืองไทยและจัดสัมมนารวมถึงการฟื้นฟูดวงตาอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกใน วันที่ 21 กรกฏาคม พ.ศ. 2554และปีต่อๆมา ซึ่งเธอทั้งสองได้ขอความร่วมมือจากผมช่วยในการจัดตั้งศูนย์บริหารฟื้นฟูดวงตาขึ้นในประเทศไทย อาจารย์จอย อยากให้คนไทยครอบครัว คนใกล้ชิดของเธอมีโอกาสได้รับการรักษาฟื้นฟูดวงตา ผมยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนช่วยเหลือให้อาจารย์จอยได้ทำตามเจตนารมณ์ความตั้งใจนี้ที่จะช่วยเหลือผู้มีปัญหาสายตา คุณพ่อคุณแม่ของเธอได้ส่งเสริมให้เธอได้ดำเนินหลักการฟื้นฟูดวงตาวิถีธรรมชาติด้วยเช่นกัน นับเป็นความฝันที่เป็นจริงของผมที่ได้ร่วมก่อตั้งศูนย์ฟื้นฟูดวงตาวิถีธรรมชาติขึ้นในกรุงเทพ นอกจากนี้อาจารย์จอยได้อุทิศตนเพื่อทำให้ศูนย์นี้ประสบความสำเร็จ อีกทั้งได้เติมเต็มความฝันของผมในการจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการฟื้นฟูดวงตาโดยวิถีธรรมชาติเป็นภาษาไทย ผมรู้สึกซาบซึ้งใจอย่างยิ่งสำหรับการทุ่มเททำงานหนักของเธอ และหวังอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นๆเพิ่มเติมในอนาคต ผมขออวยพรด้วยใจจริงให้อาจารย์จอยประสบความสุขและความสำเร็จทุกประการ